เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา พวกเราท่องเที่ยวสะดุดตาได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม “TNO Open House : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ” ครั้งแรกของปี 2567 โดย NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ “หอดูดาวดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมไฮไลท์ในค่ำคืนเปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาตินี้ ไม่ใช่แค่การได้ได้ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์พร้อมมีนักดาราศาสตร์บรรยายว่าดาวดวงไหนชื่ออะไรเท่านั้น แตพวกเราจะได้ดูดาวผ่านกล้องโทรรศน์ ขนาดเลนส์ 2.4 เมตร ซึ่งเป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปกติแล้วกล้องนี้ รวมทั้งหอดูดาวแห่งนี้ ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าใช้งาน คนที่ใช้งานก็จะเป็นนักวิจัย นักดาราศาสตร์ ซึ่งตารางการใช้งานนั้นเต็มตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงเวลาพิเศษนี้ที่ทาง NARIT ได้จัดเวลาสำหรับงานเปิดบ้านนี้ นอกจากกล้อง 2.4 เมตรแล้วยังจะได้ดูวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายตัวย
อากาศหนาวๆ ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา บนดอยอินทนนท์ยามค่ำคืน กับการได้รู้จักวัตถุท้องฟ้า ดวงดาว กลุ่มก๊าซ กาแล็กซี่อื่นๆ มันมีทั้งความรู้และความโรแมนติกในคราวเดียวกันเลยค่ะ จบงานตอนสี่ทุ่ม และได้ทำความรู้จักกับวัตถุท้องฟ้าที่หลากหลาย ทั้ง กระจุกดาวลูกไก่ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี เนบิวลานายพราน ดาวบีเทลจุส ดาวซีรีอุส กาแลกซี่แอนโดรเมด้า
นอกจากจะได้ดูดาวและรู้จักอุปกรณ์ที่สุดยอดในวงการดาราศาสตร์ไทยแล้ว ก็ทำให้เราได้รู้อีกว่า วิศวกรรมดาราศาสตร์ไทยไปไกลกว่าที่เรารู้แล้ว เดี๋ยวนี้เราสามารถดูแลอุปกรณ์ดาราศาสตร์ได้เองโดยวิศวกรคนไทย ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินส่งไปถึงต่างประเทศแบบในอดีต เราสามารถสร้างแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในควบคุมกล้องในการมอนิเตอร์วัตถุท้องฟ้าได้ด้วยฝีมือคนไทยและยังมีประสิทธิภาพมากพอที่ในอนาคตเราอาจขายให้ทั่วโลกได้ด้วย
ดูเผินๆ เหมือนว่าดาราศาสตร์อาจไม่ได้ให้อะไรแบบทันทีทันได้ แต่การวิจัยทางดาราศาสตร์กลับกลายเป็นรากฐานและการต่อยอดที่สำคัญสำหรับหลายสิ่งอย่างในชีวิตเรา เช่น ระบบ WiFi ที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็พัฒนาต่อยอดมาจากวงการดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์มักพูดว่าการส่องดูดวงดาวนี้เหมือนการส่องดูอดีต เพราะเนื่องจากการเดินทางของแสงที่กว่าจะมาถึงเรา บางครั้งดาวบางดวงอาจหาย หรือแตกสลายไปแล้ว ไม่รู้ว่าดาวซักดวง หรือกลุ่มเนบิวลาที่เราเห็นในค่ำคืนนั้น จะยังอยู่อีกหรือไม่ใน 20-30 ปี ข้างหน้า แต่พวกเราขอบันทึกเอาไว้ว่า ค่ำคืน Open House : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ในปี 67 นี้ พวกเราสะดุดตาได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่ดีมากๆ
กิจกรรมน่าสนใจนี้จัดขึ้นแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือในเดือนมกราคม 1 ครั้ง และเดือนกุมภาพันธ์อีกหนึ่งครั้ง ใครอยากได้ได้ประสบการณ์สุดว้าว แบบพวกเรา สามารถติดตามข่าวสาร และลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ ซึ่งทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปร่วมลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนงาน รอบละ 120 คน เท่านั้น ซึ่งในปีนี้ต้องบอกเลยว่าได้รับความสนใจมากๆ ในรอบที่สองที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็เต็มเรียบร้อยแล้ว สามารถตติดตามข่าวสารการรับสมัครรอบปี 2568 ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ